วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สาระน่ารู้"งูสวัด" เกิดจากอะไร

 

สาระน่ารู้"งูสวัด"เกิดจากอะไร

กรณีความเชื่อเกี่ยวกับโรคงูสวัด ที่ระบุว่าหากงูสวัดขึ้นวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตนั้น ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม ผู้ป่วยที่เป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท และจะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ซึ่งไวรัสจะมีการแบ่งตัวทำให้การปล่อยเชื้อไวรัสออกมาตามแนวเส้นประสาท 

อาการของโรคงูสวัด

ผู้ป่วยโรคงูสวัด จะมีอาการแสดงเบื้องต้นคือปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังซึ่งถูกควบคุมโดยแนวเส้นประสาทนั้น ต่อมาจะมีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนอง และแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้ ซึ่งการเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้น มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด โดยอาการที่พบมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง

"งูสวัด" ขึ้นวนรอบตัว?

ทั้งนี้โรคงูสวัดจะเกิดตามแนวยาวของเส้นประสาทเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แต่ถ้าเกิดในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมากๆ อาจจะมีอาการกำเริบและเกิดการลุกลามได้มากกว่าปกติ หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่โดยสรุปแล้วโรคงูสวัดไม่ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง 

วิธีรักษาโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัดนั้น มีทั้งการรักษาตามอาการ และการรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัส รวมถึงให้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาทร่วมด้วย หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัดแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

โรคงูสวัดจะเกิดตามแนวยาวของเส้นประสาทเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น และโรคงูสวัดไม่ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง ยกเว้นโรคดังกล่าวเกิดในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมากๆ อาจจะมีอาการกำเริบและเกิดการลุกลามได้มากกว่าปกติ หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเคิมได้ที่>>> https://saruknaruu.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น