วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564

19 วิธีรักษาฝ้าบนใบหน้า

 19 วิธีรักษาฝ้าบนใบหน้า

1.การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คุณควรเริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าหากต้องเผชิญแสงแดดก็ควรแต่งกายแบบไม่เผยผิวพร้อมกับทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวจากรังสียูวี โดยเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป และต้องเป็นแบบ PA+++ ด้วย ถึงจะช่วยปกป้องผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าต้องอยู่ภายใต้แสงแดดตลอดทั้งวัน คุณอาจเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงมากกว่านี้ แต่ให้หมั่นทาครีมกันแดดบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าครีมกันแดดยังมีประสิทธิภาพดีพอต่อการป้องกันแสงแดด ส่วนไอร้อนจากเตา รังสีจากหน้าจอคอมพ์ ก็เป็นเหตุทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน ดังนั้นเลี่ยงได้ควรเลี่ยงเลย นอกจากนี้คุณควรสังเกตตัวเองด้วยว่าเรารับประทานยาอะไรที่เสี่ยงต่อการเกิดฝ้าหรือเปล่า เช่น ยาคุมกำเนิด ใช้เครื่องสำอางอะไรแล้วแพ้จนเป็นรอยคล้ายฝ้าหรือไม่ (ส่วนมากแล้วจะเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอมจะเป็นตัวการทำให้เกิดฝ้าลึก รวมไปถึงครีมทาผิวประเภทไวเทนนิ่งที่มีส่วนผสมของสารอันตรายอย่างสาร "ไฮโดรควิโนน") เป็นต้น

2.ดูแลตัวเองจากภายใน นอกจากการทายา ทำทรีตเมนต์ รวมไปถึงการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ในระหว่างการรักษาเราสามารถดูแลตัวเองจากภายในได้โดยการรับประทานทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ที่เป็นตัวช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ้าขยายตัวใหญ่ขึ้นนั่นเอง

3.เลือกใช้ครีมบำรุง (ครีมรักษาฝ้า) การเลือกครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของ AHA, วิตามินซี, อาร์บูติน (Arbutin), กรดโคจิก (Kojic) รวมไปถึงครีมทาฝ้า ครีมแก้ฝ้า หรือครีมรักษาฝ้าต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ฝ้าจางลงและทำให้หน้าดูกระจ่างใสขึ้นได้ เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลานานหน่อยเท่านั้น

4.สูตรหัวไชเท้า สูตรรักษาฝ้าด้วยหัวไชเท้า คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่นำหัวไชเท้าบดหยาบ ๆ มาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-20 นาที (แล้วแต่สภาพหน้าของแต่ละคนว่ารับได้แค่ไหน ส่วนคนที่มีผิวแพ้ง่ายไม่ควรใช้สูตรนี้) แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น ให้คุณทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง หรือวันเว้นวัน ก็จะช่วยลดฝ้าทำให้ฝ้าดูจางลงได้มากเลยทีเดียว และนอกจากจะช่วยลดฝ้าได้แล้วหัวไชเท้ายังมีสรรพคุณช่วยลดริ้วรอยต่าง ๆ และทำให้หน้ากระจ่างใสขึ้นได้อีกด้วย แต่หลังจากล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นแล้ว ก็ให้กระชับรูขุมขนด้วยโทนเนอร์หรือน้ำเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้รูขุมขนกว้าง

5.สูตรว่านหางจระเข้ วิธีรักษาฝ้าแบบธรรมชาติ ให้คุณใช้ว่านหางจระเข้ 1 ใบใหญ่ (เลือกใบล่าง ๆ แบบที่แก่แล้ว) นำไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที จากนั้นก็ปอกเปลือกออกและล้างให้สะอาด นำไปปั่นหรือบดก็ได้ตามถนัด แล้วจึงนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที โดยสูตรนี้หากทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้ฝ้าหายได้ไวยิ่งขึ้น

6.สูตรมะขามเปียก อีกหนึ่งวิธีรักษาฝ้าด้วยสมุนไพร ให้คุณนำเนื้อมะขามเปียกมาพอกหรือทาบาง ๆ บริเวณผิวที่เป็นรอยฝ้า ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที แล้วล้างออก วิธีนี้จะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าทำให้รอยฝ้าดูจางลงและยังช่วยลดรอยด่างดำได้ด้วย แต่ถ้าที่บ้านคุณไม่มีมะขามเปียก ก็อาจเลือกใช้เป็นน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดแทนก็ได้

7.สูตรใบบัวบก สมุนไพรรักษาฝ้าอีกสูตร ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ใบบัวบกนั้นมีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการของโรคผิวหนังได้ โดยเฉพาะฝ้า กระ และสิว วิธีใช้ก็ไม่ยาก เพียงแค่นำมาปั่นแล้วใช้น้ำใบบัวบกมาเช็ดหน้าแทนการใช้โทนเนอร์ก่อนนอนทุกวัน เพียงเท่านี้รอยฝ้าต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ จางลง เหลือไว้แต่ใบหน้าอันขาวเนียนสดใส

8.สูตรไข่ขาว เพียงแค่นำไข่ขาวบริเวณรอบ ๆ ไข่แดง (เฉพาะไข่ขาว) มาทาบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณที่เป็นฝ้า ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ไข่ขาวจะช่วยดูดซับรอยฝ้าและสิ่งสกปรกให้หมดไปจากใบหน้าของคุณได้

9.สูตรน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ ใครจะรู้ว่าน้ำส้มสายชูจากผลแอปเปิ้ลจะมีประโยชน์ในด้านการช่วยดูแลผิวพรรณได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า เนื่องจากในน้ำส้มสายชูนั้นมีฤทธิ์กรด จึงช่วยทำให้ผิวดูกระจ่างใสและเนียนนุ่มขึ้นได้ เพียงแค่คุณนำมันมาผสมกับน้ำเปล่าเล็กน้อย แล้วใช้สำลีชุบและเช็ดให้ทั่วใบหน้า รอจนแห้งแล้วจึงล้างออก

10.ลอกฝ้าด้วยกรด TCA, กรด AHA ฯลฯ (Chemical peeling) นับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย (แม้ว่าจะได้ผลช้า) ที่สามารถช่วยทำให้เซลล์ผิวชั้นบนกับเม็ดสีเมลานินหลุดออกมาได้ โดยเป็นการผลัดเซลล์ผิวเก่าและช่วยผลักดันให้เซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่หลังการทำทรีตเมนต์นี้ หน้าของคุณจะไวต่อแสงแดดมาก จึงต้องป้องกันให้ดีหลังการทำ คลินิกที่ให้บริการทรีตเมนต์ตัวนี้จะแนะนำให้ทำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

11.ยากินรักษาฝ้า (Tranexamic acid) ปกติแล้วยากินชนิดนี้จะเป็นยากินที่มีคุณสมบัติทำให้เลือดแข็งตัว มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรอง คือ การนำมาใช้รักษาและป้องกันภาวะเลือดออกในผู้ป่วยเลือดไหลหยุดยาก ส่วนการใช้ยานี้เพื่อรักษาฝ้านั้นก็เนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ที่ใช้สร้างเม็ดสีเมลานินได้ จึงมีผลทำให้ฝ้าจางลง อย่างไรก็ตามข้อบ่งใช้ส่วนนี้ยังไม่ได้รับการรับรอง และยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งข้อห้ามในการใช้และผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ก็มีหลายอย่าง เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ และจากการศึกษาผลการรักษาฝ้าส่วนใหญ่ก็มาจากการทดลองในสัตว์ ส่วนการศึกษาในมนุษย์นั้นก็พบเฉพาะในรูปแบบของยาใช้ภายนอกซึ่งก็ไม่ใช่ยากิน ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้จะใช้ยาหรือกำลังใช้อยู่ ให้หาทางเลือกอื่นมาใช้ในการรักษาฝ้าแทน

12.รักษาด้วยไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ยาทาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนสามารถช่วยให้การผลิตเม็ดสีถูกขัดขวางจนทำให้ผิวบริเวณที่เป็นฝ้าขาวขึ้นมาได้ แต่แม้ว่าไฮโดรควิโนนจะให้ผลในการรักษาที่ดี แต่มันก็มีข้อเสียและควรระวัง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทาง อย. ไทย ไม่อนุญาตให้ซื้อขายกันได้อย่างเสรี เว้นแต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถจ่ายครีมที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ได้

13.ฉีดเมโสรักษาฝ้า (Mesotherapy) เป็นการใช้เข็มเล็ก ๆ ฉีดตัวยาเข้าไปในชั้นผิวตื้น ๆ เพื่อการกระจายตัวยาที่ใช้รักษากระลงสู่ชั้นเซลล์ที่มีปัญหา โดยจะฉีดลึกลงไปประมาณ 1-2 มม. ระยะห่างกันไม่เกิน 1 เซนติเมตร เฉพาะบริเวณที่มีปัญหากระและฝ้า แต่ต้องทำการฉีดซ้ำทุก ๆ 1-2 อาทิตย์ วิธีนี้ถ้าจะหวังผลการรักษาให้เป็นที่พอใจคงเป็นไปได้ยาก อย่างมากก็แค่ช่วยให้ฝ้าดูจางลงเท่านั้น

14.ฉีดสเต็มเซล์ มีงานวิจัยชี้ว่าการฉีดสเต็มเซลล์ให้กับคนที่ต้องการรักษาผิวพรรณเพื่อย้อนวัยตัวเอง จะส่งผลทำให้ฝ้าลดลงตามไปด้วย เมื่อทำการทดลองกับคนที่ไม่ได้ต้องการย้อนวัย แต่ต้องการรักษาฝ้าเพียงอย่างเดียว ก็พบว่าสเต็มเซลล์ก็สามารถช่วยลดฝ้าได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์จากรกของเด็กที่เพิ่งคลอด หรือสเต็มเซลล์จากผิวหนังแกะ

15.ไอออนโตรักษาฝ้า (Iontophoresis) เครื่องมือชนิดนี้อาศัยหลักการให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าในระดับอ่อน ๆ มีผลช่วยผลักยาหรือวิตามินที่เราทาไว้บนผิวให้ซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ยาออกฤทธิ์ในการรักษาได้ดี โดยยาที่นิยมนำมาใช้จะอยู่ในรูปแบบของเจล อย่างเจลอาร์บูติน, เจลโคจิก, เจลวิตามินซี, เจลลิโคไลซ์ และทรานซามิคเจล การรักษาแบบนี้มีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจมีอาการระคายเคืองได้บ้าง หากทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง รับรองได้เลยว่าฝ้าคุณต้องจางลงอย่างแน่นอน ส่วนเครื่องโฟโน (Phonophoresis) ก็สามารถนำมาใช้ร่วมกับเจลเพื่อช่วยผลักยาเข้าสู่ผิวได้เช่นเดียวกับเครื่องไอออนโต ทำแล้วให้ความรู้สึกสบายกว่าการทำไอออนโต แต่โดยส่วนตัวคิดว่าการทำด้วยเครื่องไอออนโตน่าจะให้การรักษาที่ดีกว่า (จากเคสตัวอย่างด้านล่าง คือ ก่อนและหลังการทำไอออนโตโดยใช้วิตามินซี จำนวน 8 ครั้ง)

16.กรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion : MD) เพื่อช่วยเร่งการขจัดเซลล์ชั้นหนังกำพร้าให้หลุดเร็วขึ้น ก็สามารถช่วยลดรอยดำจากฝ้าได้ (เหมาะกับฝ้าแบบตื้น) แต่อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากำหนดระดับความแรงในการทำงานของเครื่องมือสูงเกินไป

17.รักษาฝ้าด้วย IPL (Intense Pulsed Light) เครื่องประเภทนี้มีหลักการทำงานคล้ายเลเซอร์ (จึงถูกเรียกเหมารวมว่าเป็นเลเซอร์) นั่นก็คือเป็นการใช้แสงยิงลงไปที่ผิวให้เกิดความร้อน และความร้อนนั้นจะไปทำลายโปรตีนของเม็ดสีผิวหรือเมลานิน ทำให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น กระบวนการทำไม่มีความเจ็บปวดและไม่ต้องทายาชาเหมือนการทำเลเซอร์ทั่วไป หลังทำเสร็จอาจมีรอยแดงบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และจะค่อย ๆ จางหายไปเอง หลังการทำ IPL แล้ว จุดที่เป็นฝ้าแดดอาจมีการตกสะเก็ดบ้าง แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะมันจะค่อย ๆ หลุดออกมาเอง และเพื่อให้ผลที่ดีในการรักษาควรทำติดต่อกันทุก 2 สัปดาห์ ในช่วงแรก และกลับมาทำอีกทุก ๆ 1-2 เดือน เพื่อยังผลการรักษาเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี การทำ IPL ก็ไม่สามารถทำให้ฝ้าหายขาดได้ เพียงแต่ช่วยทำให้มันจางลงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปมีโอกาสจะกลับมามีสีเข้มเหมือนเดิม ดังนั้นทำไปแล้วก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยล่ะ ไม่อย่างงั้นจะเสียเงินฟรี ๆ นะเออ

18.เลเซอร์ Fraxel เป็นเลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนเพื่อเข้าไปกระตุ้นเซลล์ผิวให้ผลัดผิวไวยิ่งขึ้น จึงทำให้ส่วนที่เป็นฝ้าถูกผลัดออกไปด้วย การทำ Fraxel แม้จะมีความปลอดภัยแต่ก็ทำให้ใบหน้าบวมแดงได้หลังจากทำเสร็จแล้ว และยังต้องระวังตัวเองจากแสงแดดในช่วงสัปดาห์แรกหลังทำให้มาก หากต้องการทำซ้ำ ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 2 เดือน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

19.ลเซอร์ Yag เป็นเลเซอร์รักษาฝ้าแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งการทำ Yag คือการส่งคลื่นแสงลงไปถึงชั้นผิว วิธีนี้ค่อนข้างจะปลอดภัย ทิ้งสะเก็ดน้อยจนถึงไม่มีสะเก็ดเลยสำหรับเครื่องรุ่นใหม่ แต่ในช่วงหลังทำผิวของคุณจะไวต่อแสงมาก ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดหลังทำประมาณ 1 สัปดาห์ (ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ก็ต้องทาครีมกันแดดป้องกันไว้ด้วย)

สาระน่ารู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น