4 ปัญหาเกี่ยวโรคทางเดินอาหาร ที่ชาว Work From Home ต้องรู้!!
1.อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)
อาการอาหารไม่ย่อย คือ ภาวะความไม่สบายที่เกิดบริเวณหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ ความรู้สึกอิ่มแน่นเกินไป ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร อาจมีเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในท้อง โดยสามารถเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเกิดได้ทุกวัน โดยสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสจัดและไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ กินช็อกโกแลต ดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป การสูบบุหรี่ รวมไปถึงความวิตกกังวลหรือความเครียดด้วยเช่นกัน
2.โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่มีภาวะการทำงานของลำไส้ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส และปวดท้อง ร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย อีกทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย ในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ชัดเจน แต่พบว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีอายุต่ำกว่า 45 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นโรคลำไส้แปรปรวน และผู้ที่มีความเครียดสะสมและมีความวิตกกังวลสูง
ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอาการเหล่านี้สามารถหายได้จากการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือการลดความวิตกกังวลและความเครียดลง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ร่วมกับมีเลือดออกทางทวารหนัก รวมถึงมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยยืนยันตั้งแต่ต้นว่าผู้ป่วยเป็นเพียงโรคลำไส้แปรปรวน ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
3.ท้องผูก (Constipation)
ภาวะท้องผูก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป ซึ่งอาการท้องผูกนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงการที่ต้องใช้แรงและเวลานานเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระ บางคนอาจหมายถึงความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการถ่ายอุจจาระนานๆ ครั้ง บางคนอาจหมายถึงความรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุดเมื่อถ่ายเสร็จแล้ว หรือบางคนอาจหมายถึงการมีอาการปวดท้องหรือท้องอืดร่วมกับอาการท้องผูกด้วย
สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบปฐมภูมิ ที่มักเกิดจากสรีรวิทยาของการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป และแบบทุติยภูมิ ที่มีสาเหตุจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด โรคทางต่อมไร้ท่อ และโรคทางระบบทางเดินอาหาร
4.มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในลำไส้ใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ และไม่ได้รับการรักษา จนทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายของระบบทางเดินอาหารได้ในที่สุด ในประเทศไทยพบเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทุกชนิด พบมากในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หากเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว มักพบอาการท้องอืด ท้องเสียสลับกับท้องผูก มีเลือดปนมาในอุจจาระ ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง การใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ การรับประทานอาหารประเภทปิ้ง/ย่าง อาหารหมักดองเป็นประจำ รวมถึงสารเคมีจากผักที่ล้างไม่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษและมีการตกค้างที่บริเวณลำไส้ รวมไปถึงอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย
สาระน่ารู้:เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น