วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

ฟันคุด เกิดจากอะไร หลัง ผ่าฟันคุด แล้วควรทำอน่างไร

ฟันคุด เกิดจากอะไร หลัง ผ่าฟันคุด แล้วควรทำอน่างไร

ฟันคุด คืออะไร

สำหรับทันตแพทย์ ฟันคุด หมายถึงฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะมีกระดูก เหงือกมาปิดขวาง หรือเอียงไปชนฟันข้างเคียง โดยฟันคุดมักจะพบที่ตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด หรือบางครั้งเกิดบริเวณตำแหน่งของฟันเขี้ยว บางคนปล่อยทิ้งไว้นานๆ สร้างอาการปวด และสร้างความรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา หากไม่ตัดสินใจผ่าฟันคุดออก อาจเกิดปัญหาและเป็นอันตรายได้

ช่วงอายุ 15-20 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจประเมินร่วมกับการเอกซเรย์ ว่ามีฟันกรามซี่สุดท้ายพัฒนาขึ้นในขากรรไกรหรือไม่ และมีแนวโน้มจะเป็นฟันคุดหรือไม่

ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากฟันคุด

  • มีกลิ่นปากและทำให้ฟันซี่อื่นผุ
  • ฟันคุดที่ขึ้นมาในลักษณะเอียง จะทำให้มีเศษอาหารที่ติดระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง ไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เกิดเป็นกลิ่นปาก รวมทั้ง ฟันผุ คือการผุบริเวณซอกฟันข้างเคียงได้

  • เหงือกอักเสบ
  • เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในช่องปากเพียงบางส่วน เหงือกที่ปกคลุมฟันมักมีเศษอาหารไปติดใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก จนมีการอักเสบบวมแดง และติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เหงือกบริเวณนั้นเกิดเป็นหนอง จนเกิดการปวด หากการติดเชื้อลุกลามไปมากขึ้น อาจทำให้เจ็บคอกลืนน้ำลายไม่ได้  มีไข้ อ้าปากได้น้อยลง หรือหายใจลำบาก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  • ทำให้ฟันเรียงเก
  • ขณะที่ฟันคุดกำลังขึ้นจะมีแรงดันต่ออวัยวะรอบๆ รวมทั้งฟันข้างเคียง ทำให้เกิดการเคลื่อนของฟันข้างเคียงหรือเกิดการเรียงตัวที่ซ้อนกันได้

  • เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกรอบๆ ฟันคุด
  • ถุงหุ้มรอบฟันคุดหรือเนื้อเยื่อสร้างฟันอื่นๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในขากรรไกรได้  มีผลทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งเดิม กระดูกรอบๆ เกิดการกร่อนละลาย  เป็นอันตรายกับเหงือกและฟันใกล้เคียง จนถึงอาจขยายขนาดใหญ่จนใบหน้าผิดรูป มีปัญหาการสบฟันตามมาได้

เมื่อไรที่ควรผ่าฟันคุดออก

ฟันคุดเป็นฟันที่มีเนื้อเยื่อและหรือกระดูกปิดขวางอยู่ ทันตแพทย์จึงไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าเหงือก ตัดกระดูก ตัดฟันออกทีละนิด เพื่อนำฟันคุดออก โดยไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณนั้นๆ การผ่าตัดฟันคุดอาจใช้เวลานานกว่าถอนฟันตามปกติ ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของฟันคุด รวมทั้งอายุของผู้ป่วย 

การผ่าฟันคุดในช่วงที่ฟันกำลังมีการสร้างรากฟันเสร็จแล้วประมาณครึ่งรากหรือมากกว่านั้น แต่ยังสร้างรากไม่เสร็จสมบูรณ์ มักจะเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุดของฟันกรามล่างที่สาม โดยช่วงอายุการเจริญของฟันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมากจะเป็นช่วงอายุ 15-20 ปี ทันตแพทย์จึงแนะนำให้มีการตรวจประเมิน วางแผนการรักษาฟันคุด แม้ฟันอาจจะยังไม่ขึ้นมาในช่องปาก ในช่วงอายุดังกล่าว

หลังผ่าตัดฟันคุด ควรทำอย่างไร

เมื่อทันตแพทย์ผ่าฟันคุดเสร็จ จะให้กัดผ้าก๊อชไว้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด ไม่แนะนำให้อมน้ำแข็ง แต่ให้ทำการประคบเย็น เอาน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกและห่อผ้ามาประคบแก้มด้านนอกบริเวณที่ผ่าฟันคุด ในช่วง 1-2 วันหลังจากผ่าฟันคุด หลังจากนั้นให้ประคบอุ่น และทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เช่น แปรงฟันตามปกติแต่ไม่แปรงฟันแรงๆ ตรงบริเวณที่ผ่า  รับประทานอาหารอ่อนๆ  รับประทานยาแก้ปวดและยาอื่นตามที่ทันตแพทย์สั่ง  และกลับมาติดตามอาการหรือตัดไหมตามนัด

(ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ้าปากได้น้อยหลังผ่าฟันคุด ให้ค่อยๆ ฝึกการอ้าปากได้ภายหลังจากเลือดหยุดดีแล้ว  หากการอ้าปากได้น้อยเป็นอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์  ทันตแพทย์จะแนะนำท่าทางในการบริหารขากรรไกรให้ผู้ป่วย)

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าฟันคุด

การติดเชื้อหลังผ่าตัด สังเกตได้จากการปวดบวมมากขึ้น หลังผ่าประมาณ 3-5 วัน หรือมีหนองเกิดขึ้น สาเหตุที่เกิดการติดเชื้อหลังผ่าฟันคุดอาจเกิดจาก ฟันคุดอยู่ลึกใช้เวลาผ่าตัดนาน หรือดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัดได้ไม่ดีพอ

แพ้ยา สังเกตได้จากอาการปากบวม ตาบวม มีผื่นขึ้น หรือหายใจลำบากหลังจากได้รับยา ให้รีบหยุดยาและพบทันตแพทย์ทันที

เลือดออกเยอะหรือนานกว่าปกติ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมักเกิดจากการกัดผ้าที่ห้ามเลือดได้ไม่ดีพอ หรือการออกแรงบ้วนเลือดที่ออกมา ทั้งนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ได้อีกหลายสาเหตุ  เบื้องต้นแนะนำให้ใช้ผ้าก๊อซสะอาดพับให้หนาพอสมควร วางบริเวณแผลผ่าตัดแล้วออกแรงกัดนิ่งๆ อย่างน้อย 30 นาที กลืนน้ำลาย ไม่ออกแรงบ้วน  หากไม่สามารถหยุดเลือดได้ หรือมีเลือดออกปริมาณมาก ควรไปพบทันตแพทย์

ชาริมฝีปากและคาง การชาที่เป็นอยู่นานกว่าฤทธิ์ยาชา (3-4 ชั่วโมง) อาจเกิดจากการที่ส่วนของฟันคุดอยู่ใกล้เส้นประสาทรับความรู้สึกในขากรรไกรล่าง  ทันตแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงในการชาเบื้องต้นได้จากภาพเอกซเรย์ และปรึกษาผลดีผลเสียกับผู้ป่วยก่อนผ่าฟันคุดได้  หากเกิดการชาภายหลังการผ่าตัดแนะนำให้พบทันตแพทย์ผู้ผ่าตัด เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่อไป

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ ฟันคุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น