วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

โปรตีนทางเลือกและแหล่งที่มาของการสร้างโปรตีนทดแทนคืออะไรบ้าง


โปรตีนทางเลือกและแหล่งที่มาของการสร้างโปรตีนทดแทนคืออะไรบ้าง

ในปัจจุบัน มีแหล่งอาหารที่สามารถสร้างโปรตีนทดแทนได้จากหลายแหล่ง เช่น

โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) เป็นที่นิยมที่สุดในบรรดาโปรตีนทางเลือก เป็นการนำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง เห็ด ข้าวสาลีและธัญพืชต่างๆ มาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลิตให้ออกมามีลักษณะคล้ายกับเนื้อสัตว์มากที่สุด คือ มีเส้นใย มีกล้ามเนื้อ มีชั้นไขมันแทรกในชิ้นเนื้อ บางเทคโนโลยีมีการแต่งกลิ่นเลียนแบบเนื้อสัตว์เข้าไปด้วย ทำให้มีเนื้อสัมผัสและความชุ่มลิ้นคล้ายกับการกินเนื้อสัตว์จริงๆ

ถึงอย่างนั้น หากต้องการได้ประโยชน์สูงสุดจากโปรตีนจากพืช แนะนำให้กินแบบที่ผ่านกระบวนการผลิตน้อยที่สุดจะดีกว่า เช่น ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี (ข้าวกล้อง ลูกเดือย) เน้นการกินพืชมีหัว (มันเทศ มันฝรั่ง เผือก) ผักสามารถกินได้ทุกชนิด แต่ควรเลือกให้หลากหลาย เพื่อให้ได้ทั้งวิตามินและแร่ธาตุ ส่วนผลไม้หลีกเลี่ยงที่มีรสชาติหวานหรือมีน้ำตาลสูง แต่โปรตีนจากพืชที่ผ่านกระบวนการผลิตให้เหมือนเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้แย่ เพราะทำให้ง่ายต่อการกินสำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบกินพืชผัก เพียงแต่ประโยชน์อาจจะถูกลดทอนหรือมีสารปรุงแต่งเข้ามาเพิ่มเติม

โปรตีนจากสาหร่าย (Algae-based Protein) สาหร่ายเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนทดแทนที่ให้ปริมาณโปรตีนสูงสาหร่ายที่นิยมนำมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์เทียม เช่น สาหร่ายทะเล แพลงตอนพืช สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเนื้อเทียม นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญ จึงมีการนำสาหร่ายมาสกัดเพื่อเป็นอาหารเสริมอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมานานแล้ว

โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) เป็นโปรตีนทดแทนที่สกัดมาจากแมลงที่มีโปรตีนสูง เช่น ตั๊กแตน ตัวอ่อนด้วง จิ้งหรีด แมลงหลายชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีนจากแมลงมีปริมาณโปรตีนสูงมาก (อาจสูงกว่าโปรตีนจากสัตว์บางชนิดด้วยซ้ำ) หากนำแมลงมาแปรรูปให้อยู่ในรูปของโปรตีนผง โปรตีนผงปริมาณ 100 กรัม จะให้โปรตีนสูงถึง 70-80 กรัม ในขณะที่เนื้อสัตว์ อาจให้โปรตีนที่ 30-40 กรัมเท่านั้น นอกจากนี้ผงโปรตีนแปรรูปจากแมลงยังอาจมีสารอาหารอื่นๆ

โปรตีนจากเชื้อราหรือจุลินทรีย์ที่เกิดตามธรรมชาติ เรียกว่า มัยคอโปรตีน (Mycoprotein) พอเอ่ยถึงเชื้อราหรือจุลินทรีย์อาจทำให้หลายคนร้องยี้ ถึงอย่างนั้นต้องไม่ลืมว่าโยเกิร์ตหรือชีสที่เรากินกันอย่างเอร็ดอร่อยนั้นก็ได้จากการหมักบ่มลักษณะนี้เช่นกัน โดยโปรตีนชนิดนี้จะได้จากการการหมักบ่มจุลินทรีย์เกรดอาหารซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กินได้ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงให้ได้เส้นใยที่คล้ายกล้ามเนื้อของสัตว์ ก่อนจะนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อทั้งแบบเนื้อบดและเนื้อชิ้น เมื่อออกมาจะได้มัยคอโปรตีนที่เหมือนกับเนื้อสัตว์จริงๆ มากทีเดียว

เนื้อที่ถูกพัฒนาขึ้นจากเซลล์ของสัตว์ (Lab-grown หรือ Cultured meat) เนื้อเทียมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเพาะเซลล์ให้โตจากห้องปฏิบัติการ เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในการผลิตเนื้อสัตว์เทียมให้เหมือนกับเนื้อสัตว์จริงมากขึ้นไปอีก โดยมันเป็นเนื้อที่ถูกพัฒนาขึ้นจากเซลล์ของสัตว์จริงๆ จึงได้เป็นเนื้อที่มีไขมัน กล้ามเนื้อ และเนื้อแดงของสัตว์ ความต่างคือไม่ได้มาจากการเลี้ยงและฆ่าสัตว์ด้วยวิธีเดิม ซึ่งเนื้อเทียมรูปแบบนี้ต้นทุนการผลิตยังสูงมากในปัจจุบัน

ตลาดโปรตีนทางเลือก เป็นที่นิยมมากแค่ไหน

จากความนิยมโปรตีนทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดโปรตีนทางเลือกเป็นที่นิยมมากขึ้น และเริ่มมีการแข่งขันกันคึกคักด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินว่าในปี 2021 นี้ ตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีใน 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ก็ประเมินว่าขนาดของตลาดโปรตีนทางเลือก จะเติบโตขึ้นเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการบริโภคโปรตีนทั้งหมดในตลาดโลก ภายในปี 2050 ซึ่งคิดเป็นโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับอุตสาหกรรมโปรตีนรูปแบบใหม่นี้

เพราะแรงขับเคลื่อนหลักๆ ที่ทำให้ตลาดโปรตีนทางเลือกเติบโตขึ้นมากในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก ก็มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตื่นตัวกับกระแสรักสุขภาพ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ ที่กังวลต่ออันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น การปนเปื้อน รวมถึงโรคในสัตว์ การรักษาหุ่น และปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ จึงต้องเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การตระหนักถึงการบริโภคที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากจำนวนประชากรโลกสูงขึ้น

อรรถรสในการกินอาจไม่เหมือนแต่ถ้าไม่ซีเรียสก็ไม่แย่

ปัจจุบันอาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือกถูกพัฒนาให้ดูน่ากินมากยิ่งขึ้น โดยมักจะมาในรูปแบบที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ มากที่สุด สามารถนำไปประกอบอาหารได้แบบเดียวกับเนื้อสัตว์และได้โปรตีนไม่ต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนก็คิดว่ามันแทนกันไม่ได้อยู่ดี การกินเนื้อสัตว์ปลอมที่ทำจากพืชไม่อาจทำให้การกินเนื้อหมู เนื้อไก่เหมือนการกินเนื้อสัตว์จริงๆ ถึงจะพัฒนาให้เหมือนมาก มันก็ไม่ใช่อยู่ดี และก็แยกออกด้วยว่าไม่ใช่เนื้อสัตว์จริงๆ

อย่างไรก็ดี เรื่องของโปรตีนทางเลือกนี้ มันก็เป็นแค่ “ทางเลือก” หนึ่งของคนที่ต้องการจะลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ เพียงแต่อยากให้คงสภาพคล้ายเนื้อสัตว์ไว้ เพราะมันคงยากกว่าถ้าให้หันไปกินโปรตีนจากพืชโดยตรงทันที เพราะฉะนั้น หากใครไม่สะดวกใจ หรือคิดว่าอย่างไรการกินพืชที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่อยู่ดี หรือลองแล้วรู้สึกไม่ชอบก็ไม่ว่ากัน แน่นอนว่ามันคงไม่ได้ถูกปากทุกคน ใครที่อยากกินเนื้อสัตว์จริงๆ ก็ยังหากินได้ มันไม่ได้ถูกแทนที่ไปหมดแล้ว

ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับสุภาพเพิ่มเติมได้ที่>>> https://saruknaruu.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น