สาเหตุของโรค เมลิออยด์ วิธีรักษาและป้องกัน
โรคเมลิออยด์ คืออะไร
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับโรคที่เกิดในช่วงฤดูฝนว่าโรคที่กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง คือโรคเมลิออยด์หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่าโรคไข้ดิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ เข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 3 ทาง คือ
ทางบาดแผลที่ผิวหนัง
ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน
อาการของโรคเมลิออยด์
มีไข้สูง
มีฝีที่ผิวหนัง
มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย
อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อ แล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้
ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
กลุ่มเสี่ยงโรคเมลิออยด์
ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ มี 5 กลุ่ม ได้แก่
ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องสัมผัสกับดินและน้ำโดยตรงหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย เช่น แมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แกะ หรือแพะ เป็นต้น
ผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
คนสูบบุหรี่จัดหรือติดเหล้า
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ส.ค. 64 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 1,426 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน พบมากที่สุด คืออายุ 55-64 ปี รองลงมา คือ 45-54 ปี และกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ พบในกลุ่มอาชีพเกษตรกรมากที่สุด พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากอันดับ 1 ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ คาดว่าในช่วงฤดูฝนนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์เพิ่มขึ้น
วิธีรักษาโรคเมลิออยด์
ขณะนี้โรคเมลิออยด์มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด สามารถรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งผู้ป่วยต้องกินให้ครบชุด ใช้เวลาประมาณ 20 สัปดาห์ ทางด้านแพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคเมลิออยด์ ไม่มีวัคซีนป้องกัน สามารถป่วยซ้ำได้อีก
วิธีป้องกันโรคเมลิออยด์ สามารถทำได้ ดังนี้
ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่
หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท
รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการสัมผัส ลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน
ลดละเลิกการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น