วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564

สาระน่ารู้ ประจำเดือนขาด มาไม่ปกติ ควรทำอย่างไร ?

สาระน่ารู้ ประจำเดือนขาด มาไม่ปกติ  ควรทำอย่างไร ?

ประจำเดือนขาด แบ่งได้ 2 ประเภท

1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือ ผู้หญิงอายุ 18 ปีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงมักจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี

2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือ ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบเดือน

( สาเหตุการขาดประจำเดือน )

  • การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะสงสัยเป็นสาเหตุแรก ๆ เมื่อประจำเดือนขาดหายไป ซึ่งหากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วในช่วงก่อนประจำเดือนขาด อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาด ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติ สามารถตรวจเบื้องต้นได้เอง โดยการตรวจปัสสาวะด้วยที่ตรวจการตั้งครรภ์ หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์เพื่อให้ได้ผลยืนยันชัดเจน

1. ความเครียด วิตกกังวล อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เนื่องจากความเครียดนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน

2. โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorders) ทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มีความรู้สึกทางเพศ

3. ใช้ยาคุมนานเกินไป การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เป็นธรรมดา

4. ช่วงให้นมลูก คุณแม่หลายคนที่คลอดลูกแล้ว ประจำเดือนอาจจะยังไม่มา หรือ ประจำเดือนขาดอยู่ เพราะเป็นช่วงหลังคลอด หรือช่วงให้นมลูกอยู่ ซึ่งในช่วงหลังคลอด หรือแม้แต่หลังแท้งลูก ถ้ายังมีน้ำนมอยู่ก็เป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกระทั่งหย่านม

5. วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome) โดยเมื่ออายุมากขึ้น ในช่วงวัยประมาณ 40 – 59 ปี ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร

6. มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง หรือแม้แต่เนื้องอกบริเวณใกล้ ๆ ต่อมใต้สมอง ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดได้ โดยเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่เรียกว่า พิตูตารี่แกลนด์ (Pituitary gland) อาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติ เช่น รูปร่างโตผิดปกติ ประจำเดือนขาดหายไป

7. ระดับฮอร์โมนผิดปกติ รังไข่ที่สร้างฮอร์โมน ไม่ว่าจะสร้างฮอร์โมนมาก หรือน้อยก็เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดได้ หากสร้างฮอร์โมนอีสโตรเจน กับ โปรเจสเตอโรนน้อยเกินไป ก็ไม่พอที่จะไปกระตุ้นให้มีประจำเดือนออกมา หรือ หากรังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายมามากเกินไป ก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้เช่นกัน


8. น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเพิ่ม หรือลดมากเกินไปอาจเกิดอาการประจำเดือนไม่มา โดยเฉพาะเมื่ออดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป อาจทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก ส่วนคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมากนั้น จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน และทำให้ประจำเดือนไม่มา

9. ออกกำลังกายมากเกินไป ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไป โดยผู้หญิงที่อายุ 16 ปี ต้องมีไขมันในร่างกายประมาณ ร้อยละ 22 ของน้ำหนักตัว เป็นอย่างน้อย จึงสามารถคงรอบประจำเดือนตามปกติได้ ดังนั้นในผู้หญิงที่มีไขมันในร่างกายน้อย หรือผอมเกินไป อาจทำให้ขาดประจำเดือนได้เช่นกัน

10. โรคเกี่ยวกับมดลูก เช่น ฉายแสงที่มดลูกเพื่อรักษามะเร็ง หรือเป็นโรคบางชนิดของตัวมดลูกเอง เช่นเป็นวัณโรคของเยื่อบุมดลูก

11. แท้ง แล้วตัดขูดมดลูก ผนังมดลูกได้รับความกระทบกระเทือนมากเกินไป จนเกิดเป็นแผลเป็นข้างใน ติดกันเป็นพังผืด แบบนี้ก็เป็นเหตุของการขาดประจำเดือนได้เช่นกัน

12. ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไธรอยด์ โรคของตับอ่อน และโรคของต่อมหมวกไต

13. คุณ ๆ ที่กำลังไม่สบายเป็นไข้อะไรก็ตามแต่ อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปชั่วคราวได้ แต่พอโรคนั้นหายแล้ว ประจำเดือนก็จะมาเป็นปกติ โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น วัณโรคปอดก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้

14. ถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะนี้เกิดจากรังไข่มีถุงน้ำรังไข่เป็นจำนวนมาก โดยถุงน้ำเหล่านี้จะไม่ปล่อยไข่ให้ตกออกมา

( ประจำเดือนขาด ต้องทำอย่างไร? )

  • ผ่อนคลาย ไม่เครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้ ควรพยายามทำร่างกาย และจิตใจให้ผ่อนคลาย อาจจะไปเที่ยว ทำงานน้อยลง ทำจิตใจให้สบาย ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

  • หมั่นสังเกตร่างกาย เมื่อประจำเดือนเริ่มหายไปแม้เพียงเดือนเดียว ควรเริ่มจดบันทึกเพื่อดูว่าประจำเดือนหายไป หรือแค่มาช้ากว่ากำหนด และคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีน้ำนมไหลออกมาทั้งที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ มีอาการปวดท้องผิดปกติ มีขน มีหนวดขึ้นผิดปกติ หรือไม่

  • ไม่หักโหมออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความเหมาะสม ไม่ออกกำลังกายหนัก หรือมากเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ผอม มีไขมันน้อย อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มกล้ามเนื้อ แทนการออกกำลังกายที่ออกแรงเยอะ ๆ เพื่อลดไขมัน เช่น อาจจะโยคะ แทนการวิ่ง

  • ควบคุมน้ำหนัก ให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ไม่อ้วนไป หรือผอมไป หากรู้ตัวว่าผอม หรือมีสัดส่วนไขมันในร่างกายน้อย ควรรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เน้นอาหารที่เพิ่มไขมันดี หรือหากน้ำหนักตัวเยอะ อาจจะค่อย ๆ ลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรอดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ รับประทานให้ครบ 3 มื้อ และ เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาจจะเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม เพิ่มขึ้น

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น

  • พบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว หากประจำเดือดขาดหายไป ควรไปพบแพทย์ หรือ สูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ประจำเดือนหายไป ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจภายใน อัลตราซาวด์ ตรวจดูระดับฮอร์โมน ฯลฯ

( เมื่อประจำเดือนขาด ควรรักษาอย่างไร? )

การรักษา “ภาวะประจำเดือนขาด” นั้น รักษาได้หลายวิธี โดยต้องหาสาเหตุให้พบว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เช่น

  • กินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุเช่น ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนที่เราคุ้นเคย ซึ่งเมื่อกินยาแล้ว จะทำให้ประจำเดือนมาได้ โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุก ๆ เดือน ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา และหลังจากนั้นให้ลองดูว่าประจำเดือนมาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องกินยาหรือไม่

  • กินยาคุมกำเนิด หากมีความผิดปกติ เช่น ถุงน้ำรังไข่หลายใบ แพทย์อาจจ่ายยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยรักษาอาการ

  • รักษาอาการป่วยอื่น ๆ หากตรวจวินิจฉัยแล้ว พบว่าการขาดหายไปของประจำเดือนเกิดจากความผิดปกติ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง มีมดลูกผิดปกติ ก็รักษาโรค หรือ อาการเจ็บป่วยนั้น ๆ เมื่อรักษาหายแล้ว ประจำเดือนก็จะกลับมาได้ตามปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น