ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร
นพ. นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และ sport cardiologist โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนทำให้หัวใจบีบตัวแบบไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่บีบตัว หรือหยุดเต้นโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวอื่นๆ มาก่อน ภาวะนี้ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ
ในนักกีฬาที่กำลังเล่นกีฬาแล้วเกิดเป็นลม หมดสติกระทันหันนั้น มักเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาวะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1:100,000 ซึ่งตัวเลขนี้ก็แตกต่างกันไปในงานวิจัยที่แตกต่างกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
สาเหตุของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่ส่งผลให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามช่วงอายุของนักกีฬา ดังนี้
กลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในนักกีฬากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติของหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ก็ได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ภาวะที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น ในอดีตนั้นพบว่า สาเหตุหลักนั้นเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
แต่ในการศึกษาในช่วงหลังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจหนาตัวน้อยลง อาจเป็นเพราะการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในนักกีฬาถูกบรรจุเป็นภาคบังคับสำหรับนักกีฬาอาชีพที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้สาเหตุของการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อยในช่วงหลังๆ ตรวจไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ จึงถูกสรุปว่าการเสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลัน (Sudden Arrhythmic Death Syndrome; SADS) มากขึ้นแทน
กลุ่มนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปี
สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ในคนกลุ่มนี้ จะมาจากเรื่องของเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ ซึ่งสาเหตุของเส้นเลือดหัวใจตีบที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ การมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม หรืออาจเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัว เช่น สูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานานๆ การใช้สารเสพติด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุอย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันก็ยังคงพบได้อยู่ แต่พบได้ในอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่าข้างต้น
- การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
- การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มีส่วนที่สำคัญหลักๆ อยู่ 2 ประการ คือ
- การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ
ในวงการนักกีฬาอาชีพ การตรวจร่างกายนักกีฬาแบบละเอียดจะถูกตั้งไว้เป็นมาตรฐานของทีมที่ต้องทำเสมอ โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าฤดูกาลแข่งขัน ช่วงเวลาซื้อขายนักเตะ หรือนักกีฬาประเภทอื่นๆ โดยทั้งหมดมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้
- การซักประวัติ ประวัติที่สำคัญที่จะต้องทราบเกี่ยวกับนักกีฬา ได้แก่
- นักกีฬาเหล่านั้นเคยมีปัญหาหน้ามืด วูบ เป็นลมหมดสติ หรือใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบากมาก่อนหรือไม่ ทั้งในเวลาปกติ เวลาออกกำลังกาย หรือช่วงหลังการออกกำลังกาย
- ประวัติครอบครัว มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยๆ (น้อยกว่า 50 ปี) หรือไม่
- นักกีฬาเหล่านั้นเคยตรวจพบความผิดปกติด้านหัวใจจากการตรวจร่างกายจากที่อื่นมาก่อนหรือไม่
การตรวจร่างกาย หลังจากซักประวัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อตรวจดูสภาวะต่างๆ ดังนี้
- ตรวจดูความผิดปกติของความดันโลหิต และเสียงลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่ามีลักษณะที่ชี้นำให้สงสัยภาวะหัวใจหนาตัว หรือการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือไม่
- การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจเพื่อดูว่าการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test – EST) หรืออาจตรวจ CPET/VO2 max ว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่สามารถคัดกรองโรคหัวใจได้ 100% ดังนั้น การตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ จึงยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นร่วมด้วย ซึ่งอาจจะต้องทำซ้ำเร็วกว่าปกติ
ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเคิมได้ที่>>> https://saruknaruu.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น