วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สัญญาณอันตราย อาการของโรคอัลไซเมอร์

สัญญาณอันตราย อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์นั้น นอกจากปัญหาเรื่องความจำที่เป็นอาการที่เด่นชัดและสังเกตได้ง่ายแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปและการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน

สูญเสียความจำหรือข้อมูลระยะสั้น มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ เช่น วางของทิ้งไว้แล้วลืม วางกุญแจรถไว้ในตู้เย็น นึกชื่อคนที่รู้จักไม่ออก ถ้าหากตัวโรคเป็นมากขึ้น ก็อาจทำให้สูญเสียความทรงจำในอดีตได้

  1. มีความสับสนในวัน เวลา สถานที่
  2. มีความสับสนในทิศทาง เช่น ลืมเส้นทางที่เคยใช้เป็นประจำ
  3. มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น คิดคำพูดไม่ออก เข้าใจหรือสื่อสารข้อความยาวๆ ไม่ได้
  4. มีการตัดสินใจที่แย่ลง ช้าลง
  5. มีการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาที่ทำได้ยากขึ้น หรือทำได้แย่ลง
  6. ขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
  7. มีปัญหาในการทำงาน ทำงานให้สำเร็จได้ยากกว่าปกติ
  8. มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึมเศร้า
  9. มีการแยกตัวจากสังคม งาน หรือกิจกรรมที่เคยทำหรือชื่นชอบ

คนที่ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่?

หากบอกว่าคนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมนั้นถือเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่ถูกต้องนัก คนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมบ่อยๆ อาจเป็นได้จาก 2 กรณี ได้แก่

  • มีอาการขี้ลืมจากการไม่ได้จดจำ ไม่ได้เก็บข้อมูลเข้าไปในความจำ เช่น ยุ่งมากมีเรื่องหลายเรื่องที่ต้องทำ ลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม
  • มีอาการขี้ลืมที่เกิดจากความจำถดถอย ความสามารถในการจดจำลดลง ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักมีอาการอื่นในเรื่องของความจำร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม

  • การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคความจำเสื่อม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาและตรวจหาสาเหตุ เพื่อให้ทำการรักษาได้ตรงเป้า แม่นยำเฉพาะโรค และประสบผลสำเร็จ การวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม ทำได้ดังนี้

  • การซักประวัติ จากตัวผู้ป่วยเอง คนรอบข้าง หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์
  • การตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • การตรวจความจำ เช่น Mini Mental Status Examination (MMSE), Montreal Cognitive Assessment (MoCA), Cognitive Ability Test

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประเมินภาวะของสมอง
  • การตรวจเลือด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจน้ำตาล น้ำตาลสะสม ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไทรอยด์ ระดับวิตามินบี12 การตรวจหาภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอชไอวี การตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีผลต่อสมอง

การประเมินภาวะทางอารมณ์

การตรวจยีน เช่น  Apolipoprotein E4 (Apo E4), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2)

นอกจากนั้น ยังจำเป็นจะต้องตรวจหาภาวะหรือโรคทางกายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อความจำและให้การรักษาด้วยเสมอ ได้แก่ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ภาวะขาดวิตามินในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี1 บี12 โฟลิก ภาวะพร่องไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่มีผลต่อสมอง การใช้ยาบางอย่างที่มีผลต่อความจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน ยานอนหลับ สารเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน โคเคน กัญชา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการใช้ในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

การป้องกันโรคความจำเสื่อม

  • ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะเหล่านี้ ควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและควบคุมได้
  • ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • บริหารสมอง โดยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในเวลาว่าง เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ทำอาหาร ปลูกต้นไม้
  • เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • บริหารอารมณ์ให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวล ลดความเศร้า หากไม่สามารถทำเองได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อดูแลอาการให้ดีขึ้น

การรักษาภาวะความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์นั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงไป รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนี้

  • มุ่งเน้นไปที่สาเหตุ/โรคร่วมที่ทำให้เกิดโรค และให้การดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการดูแลสุขภาพกาย การทำกิจวัตรประจำวัน
  • หากิจกรรมเพื่อส่งเสริมสมอง กิจกรรมกระตุ้นความคิด
  • หาผู้ดูแลผู้ป่วยที่ค่อนข้างเข้าใจในธรรมชาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยได้ถูกต้อง
  • วางแผนการรักษาในระยะยาว ปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย
  • การใช้ยากระตุ้นสมอง
ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเคิมได้ที่>>> https://saruknaruu.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น